การศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
การจัดการศึกษาตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ ตลอด 4 ปี นับว่ามีความแตกต่างกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ เพราะต้องอยู่ประจำ ณ สถานศึกษาตลอด 4 ปี เพื่อใช้เวลาสำหรับสร้างบุคลากรตำรวจให้ได้ครบทุกด้าน คือ พุฒิศึกษา พลศึกษา และจริยศึกษา คือ ให้ได้ทั้งความรู้ในวิชาชีพตำรวจ ด้านร่างกาย บุคลิกภาพ คุณลักษณะ และทักษะ ที่เหมาะสมกับอาชีพตำรวจ และด้านคุณธรรมจริยธรรมในอาชีพตำรวจ
รัฐต้องใช้งบประมาณสำหรับการจัดการศึกษา เสมือนเป็นนักเรียนทุนของรัฐ เพื่อให้ได้ตำรวจอาชีพที่สมบูรณ์แบบที่สุด ต้องใช้ทรัพยากรในการจัดการศึกษา และการฝึกอบรม ทั้งด้านที่พัก อาหาร สถานที่ อุปกรณ์การศึกษา และฝึกอบรม โดยตลอดหลักสูตรนักเรียนนายร้อย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่อย่างใด
เมื่อเข้ารับการศึกษา
- เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร และเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะได้รับเงินเดือนตลอด 4 ปี
- ราชการรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ตำรา เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การศึกษา และการฝึกอบรมทั้งหมด
เมื่อสำเร็จการศึกษา
- ได้รับปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
- ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตำรวจตรี
- ได้รับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งรองสารวัตรในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกนาย
- ได้รับเงินเดือน 7,260 บาท
การเทียบโอนหน่วยกิต การศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว สามารถนำคุณวุฒิ รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ คือ
- สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เทียบโอนหน่วยกิต ได้จำนวน 88 หน่วยกิต จากจำนวน 145 หน่วยกิต
- สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เทียบโอนชุดวิชา ได้จำนวน 4 ชุดวิชา ในจำนวน 24 ชุดวิชา
- สามารถใช้คุณวุฒิ รัฐประศาสนศาสตร์ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และสามารถศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาเอก ได้เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วไป ได้ในหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ
เริ่มต้นบนเส้นทางการรับราชการ
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตำแหน่งที่แต่งตั้งครั้งแรก คือ การเป็นพนักงานสอบสวนที่ถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งในการอำนวยความยุติธรรมขั้นต้น ดังนั้นนายตำรวจสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีคุณสมบัติพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ กฎหมาย การรวบรวมหลักฐาน มีวิจารณญาณ ไหวพริบ และคุณสมบัติอีกหลายด้านจึงจะสามารถเป็นตำรวจอาชีพที่ดีได้ตามที่ประชาชนคาดหวังและต้องการได้
ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ
หน้าที่ราชการที่เริ่มจากตำแหน่งรองสารวัตร ยศร้อยตำรวจตรี ไปจนถึงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ยศพลตำรวจตรี
ยศและเงินเดือนแต่ละระดับ
ตำแหน่ง | ยศ | เงินเดือน | เงินอื่นๆ |
---|---|---|---|
รองสารวัตร | ร้อยตำรวจตรี – ร้อยตำรวจเอก | 7,260 – 20,304 บาท | |
8 ปี | |||
สารวัตร | พันตำรวจตรี – พันตำรวจโท | 11,460 – 25,180 บาท | |
5 ปี | |||
รองผู้กำกับการ | พันตำรวจโท | 14,100 – 30,710 บาท | |
4 ปี | |||
ผู้กำกับการ | พันตำรวจเอก | 17,310 – 43,440 บาท | เงินประจำตำแหน่ง 5,600 บาท เงินค่าตอบแทน 5,600 บาท |
3 ปี | |||
รองผู้บังคับการ | พันตำรวจเอก(พิเศษ) | 21,260 – 46,280 บาท | เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท เงินค่าตอบแทน 10,000 บาท |
5 ปี | |||
ผู้บังคับการ | พลตำรวจตรี | 26,140 – 54,730 บาท | เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท เงินค่าตอบแทน 14,500 บาท |
สำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวน จะมีเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 3,500 บาท และเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญา สำนวนละ 500 – 1,500
ยศตำรวจในทุกชั้นยศ จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สำหรับยศชั้นนายพลจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
สิทธิต่างๆ ที่ได้รับจากทางราชการ
- บ้านพัก
- ค่ารักษาพยาบาล ตนเอง ภรรยา บุตร บิดาและมารดา
- เบิกค่าเล่าเรียนบุตร
- เบิกค่าเช่าบ้าน
- สมาชิก กบข.
- ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- สมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์
- ฯลฯ